เรามาเรียนรู้ 8 ข้อ ขององค์ประกอบเบื้องต้นซึ่งเป็นศิลปะในการออกแบบ เบื้องต้น สำหรับให้เราได้ศึกษาว่ามีอะไรบ้าง และทำให้เข้าใจหลักของมันอย่างดี เพื่อนำไปใช้ในการถ่ายภาพให้ออกมามีแบบแผนและสวยงาม มีด้วยกันดังนี้คือ
1. จุด (Point)
จุดถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของภาพ ไม่จำเป็นว่าจะเป็นจุดเล็ก ซึ่งอาจจะเป็นวัตถุเล็กๆ ก็ได้ การรวมตัวอาจจะเป็นหนึ่งเดียว เป็นกลุ่ม กระจัดกระจาย ซึ่งแต่ละอย่างจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน
เราสามารถนำจุดมาใส่ในภาพของเราเพื่อต้องการนำเสนอแบบร่วมกลุ่ม แบบดูแล้วสับสนหรือแบบแตกแยกได้ตามที่เราต้องการ
2.เส้น (Line)
เส้นเกิดจากเคลื่อนที่ของจุด หรือการนำจุดมาวางเรียงต่อ ๆ ก็จะเกิดเป็นเส้น เส้นมีมิติเดียว คือ ความยาว ไม่มีความกว้าง เส้นยังเป็นขอบเขต ของที่ว่าง รูปร่าง รูปทรง น้ำหนัก สี ตลอดจนกลุ่มรูปทรงต่าง ๆ
****เส้นให้ความรู้สึกในการมองได้ดังนี่****
–เส้นตั้ง หรือ เส้นดิ่ง ให้ความรู้สึกทางความสูง สง่า มั่นคง แข็งแรง หนักแน่น ,
-เส้นนอน รู้สึกสงบ ราบเรียบ นิ่ง ผ่อนคลาย,
-เส้นเฉียง หรือ เส้นทะแยงมุม ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว รวดเร็ว ไม่มั่นคง
-เส้นหยัก หรือ เส้นซิกแซก ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว อย่างเป็นจังหวะ มีระเบียบ ไม่ราบเรียบ น่ากลัว อันตราย ขัดแย้ง ความรุนแรง ,
-เส้นโค้ง แบบคลื่น ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ลื่นไหล ต่อเนื่อง สุภาพ อ่อนโยน นุ่มนวล ,
– เส้นโค้งแบบก้นหอย ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว คลี่คลาย หรือเติบโตในทิศทางที่ หมุนวนออกมา
-เส้นโค้งวงแคบ ให้ความรู้สึกถึงพลังความเคลื่อนไหวที่รุนแรง การเปลี่ยนทิศทาง ที่รวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง ,
-เส้นประ ให้ความรู้สึกที่ไม่ต่อเนื่อง ขาด หาย ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความเครียด
ดังนั้นเวลาเรานำเส้นไปใช้งานจะให้ความรู้สึกได้หลากหลาย เหมาะสมกับภาพหรือนำไปเป็นจุดนำสายตา ด้วยทิศทางของเส้น แล้วแต่เราจะนำไปจัดองค์ประกอบภาพ
3.รูปทรง (Form)
รูปทรง จะมี 3 มิติ คือ กว้าง ยาว ลึก ได้แก่ ทรงสี่เหลี่ยม ทรงสามเหลี่ยม ทรงกลม ทรงกระบอก
รูปทรงที่เด่นชัด มีมิติให้ความรู้สึกมีปริมาตร ความหนาแน่น มีมวลสาร ที่เกิดจากการใช้ ค่าน้ำหนัก หรือการจัดองค์ประกอบของรูปทรง หลายรูปรวมกัน
เวลาถ่ายภาพเรา จำเป็นต้องรู้ทิศทางของแสง เลือกมุมในการถ่ายภาพให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ ภาพที่สวยงาม มีแสงเงา มีมิติ
4.รูปร่าง (Shape)
รูปร่าง คือ รูปแบน ๆ มี 2 มิติ มีความกว้างกับความยาวไม่มีความหนา เกิดจากเส้นรอบนอกที่แสดงพื้นที่ขอบเขต ของรูปต่าง ๆ เช่น รูปวงกลม รูปสามเหลี่ยม หรือ รูปอิสระที่แสดงเนื้อที่ของผิวที่เป็นระนาบมากกว่าแสดงปริมาตรหรือมวล
ภาพที่เน้นเฉพาะรูปร่างขององค์ประกอบ ไม่ได้แสดงรายละเอียด เช่น ภาพถ่ายย้อนแสง ให้มองเห็นรูปร่าง ลักษณะของวัตถุเป็นภาพเงาดำ (Silhouette) รูปร่างเป็นลักษณะบ่งบอกโครงสร้างของวัตถุ และเชื่อมโยงกับเส้น
5.น้ำหนักสี (Tone)
ค่าน้ำหนัก คือ ค่าความอ่อนแก่ของบริเวณที่ถูกแสงสว่าง และบริเวณที่เป็นเงาของวัตถุหรือ ความอ่อน- ความเข้มของสีหนึ่ง ๆ หรือหลายสี เช่น สีแดง มีความเข้มกว่าสีชมพู หรือ สีแดงอ่อนกว่าสีน้ำเงิน เป็นต้น
และยังหมายถึงระดับความเข้มของแสงและระดับ ความมืดของเงา ซึ่งไล่เรียงจากมืดที่สุด (สีดำ)ไปจนถึงสว่างที่สุด (สีขาว) น้ำหนักที่อยู่ระหว่างกลางจะเป็นสีเทา ซึ่งมีตั้งแต่เทาแก่ที่สุด จนถึงเทาอ่อนที่สุด การใช้ค่าน้ำหนักจะทำให้ภาพดูเหมือนจริง และมีความกลมกลืน ถ้าใช้ค่าน้ำหนักหลาย ๆ ระดับจะทำให้มีความกลมกลืนมากยิ่งขึ้น และถ้าใช้ค่าน้ำหนักจำนวนน้อยที่แตกต่างกันมากจะทำให้เกิด ความแตกต่าง ความขัดแย้ง
**ลักษณะของน้ำหนักสีของภาพที่มีบริเวณส่วนใหญ่สว่างขาวสดใส เรียกว่า ภาพไฮคีย์ (Highkey) ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน นุ่มนวล
**ส่วนภาพที่มีบริเวณส่วนใหญ่เข้ม มีเงาและมืด เรียกว่าภาพโลว์คีย์ (Low key) ให้ความรู้สึกที่เข้มแข็งและลึกลับ
6.ลักษณะพื้นผิว (Texture)
คือลักษณะของบริเวณผิวหน้าของสิ่งต่าง ๆ ที่เมื่อสัมผัสแล้วสามารถ รับรู้ได้ ว่ามีลักษณะอย่างไร หยาบ ขรุขระ เรียบ มัน ด้าน เนียน สาก หรืออื่นๆ ลักษณะที่สัมผัสได้ของพื้นผิว มี 2 ประเภท คือ
1. พื้นผิวที่สัมผัสได้ด้วยมือ สัมผัสได้จริงเช่นในงานศิลปะ ต่างๆที่เราสัมผัสได้
2. พื้นผิวที่สัมผัสได้ด้วยสายตา จากการมองเห็นแต่ไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของผิววัสดุนั้น ๆ เช่น การวาดภาพก้อนหินบนกระดาษ จะให้ความรู้สึกเป็นก้อนหินแต่สิ่งที่เราสัมผัสเป็นกระดาษ ถือว่า เป็นการสร้างพื้นผิวลวงตา ให้สัมผัสได้ด้วยการมองเห็นเท่านั้น ซึ่งการถ่ายภาพจะใช้วิธีนี้
พื้นผิวหยาบ จะให้ความรู้สึกกระตุ้นประสาท หนักแน่น มั่นคง แข็งแรง ถาวร ,พื้นผิวเรียบ จะให้ความรู้สึกเบา สบาย
การใช้ลักษณะของพื้นผิวที่แตกต่างกัน เห็นได้ชัดเจน จากงานประติมากรรม และมากที่สุดในงานสถาปัตยกรรม เช่น อาคาร ต่างๆ
ลักษณะพื้นผิวของวัตถุมีอยู่มากมายหลายชนิด ให้ความสวยงามและความรู้สึกเร้าอารมณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งการรู้จักเลือกลักษณะพื้นผิวประกอบในภาพให้เหมาะสม เช่น จัดวัตถุผิวเรียบบน
พื้นผิวที่ขรุขระ จะทำให้ภาพมีลักษณะที่ตัดกัน มองเห็นวัตถุผิวเรียบได้เด่นชัดขึ้น เป็นต้น
7.สี(Color)
สีเป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อความ รู้สึก และกระตุ้นความสนใจในการดูและมอง เราต้องเรียนรู้และเข้าใจสีในการใช้องค์ประกอบ ว่าสีมีอิทธิพลอย่างไร รู้จักแสงสี รู้จักวรรณะของสี เช่นสีแดงให้ความรู้สึกร้อนแรง,สีเขียวให้ความรู้สึกร่มเย็น,สีน้ำเงินให้ความรู้สึกสุขุม
เวลาเราจะถ่ายทอดเรื่องสีจะต้องยึดหลัก กลมกลืน ของการใช้วรรณะสี โดยมีหลักว่า เราจะใช้สีในวรรณะร้อนและเย็นไม่เท่ากันเช่นใช้70-30หรือ20-80 ไม่มีสูตรตายตัวอยู่ในอารมณ์ภาพ
8.ที่ว่าง (Space)
เป็นองค์ประกอบในการบ่งบอกอาณาเขตของรูปร่างและรูปทรง เป็นพื้นที่ว่างในภาพ เช่นถ้าเราเข้าไปในห้องหนึ่งที่ว่างเปล่า ส่วนว่างเปล่าคือที่ว่าง แต่ถ้าเราใส่โต๊ะ เก้าอี้ไป พื้นที่ว่างก็จะเปลี่ยนแปลง ว่าจะแน่นหรือหลวมและมีประโยชน์ใช่สอยอย่างไร
นี้คือประโยชน์ของภาพเวลาที่เราถ่ายภาพ จะมีคนอ้างถึงภาพดูแน่นไปหรือหลวมไป อันนี้เขาอิงที่ว่าง ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะสามารถถ่ายทอดภาพให้ดูไม่ว่างไปหรือหลวมไป หรือแน่นไปได้ส่วนมากที่ว่างจะใช้ในงานออกแบบที่อยู่อาศัย
9.สรุป
เมื่อเราเรียนรู้ศิลปะองค์ประกอบเบื้องต้นแล้ว เราก็สามารถไปเรียนรู้ องค์ประกอบภาพเบื้องต้น
ต่อไป เพื่อให้ภาพเรามีรูปแบบและสวยต่อไป
สามารถไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง ELEMENTS OF COMPOSITION ตามลิงค์นะครับ
ภาพ-บทความ : ช้างอิมเมท 64